วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กล้วยไม้ กล้วยไม้ป่า กล้วยไม้ดิน


การดูแลกล้วยไม้ป่า หลังออกดอก
จริง ๆ แล้ว กล้วยไม้ป่า มีหลากหลายชนิด ที่กระจายกันออกดอกตลอดปีนะครับ
ดังเช่น มกราคม พวกช้าง, กุมภาพันธ์ พวกเอื้อง, มีนาคม พวกกุหลาบ เป็นต้นครับ
อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้ป่าส่วนใหญ่ พอหมดฤดูแล้ง ก็จะหมดช่วงออกดอกกันครับ โน่น ปีหน้าฟ้าใหม่ จึงจะออกดอกกันอีกทีครับ
ฉบับนี้ผมจึงขอแนะนำ การดูแลกล้วยไม้ป่า หลังออกดอก ดังนี้นะครับ
1.ตัดเล็มก้านช่อดอก เพื่อไม่ให้ระเกะระกะครับ ใช้กรรไกรตัดกระดาษธรรมดาก็ได้นะครับ
2.เสริมวัสดุปลูก เช่น กาบมะพร้าว หรือถ่าน แต่ถ้าเป็นการผูกกล้วยไม้ไว้กับต้นไม้ ก็ดูแลว่า โคนต้นยุ่ยหมดหรือไม่ ถ้ายุ่ยมาก ก็เสริมวัสดุปลูกด้วยนะครับ
3.ตัดพวกลวด เชือก หรือวัสดุต่าง ๆ เก่า ๆ ที่ไปผูกมัดลำหรือโคนต้นกล้วยไม้ออกเสีย เพราะต่อ ๆ ไปจะเกิดปัญหาไปรัดลำต้น แล้วค่อยผูกเชือกหรือลวดใหม่ ล้อมลำต้นกล้วยไม้ใหม่ ถ้าจำเป็นนะครับ
4.ใส่ปุ๋ยพวกสูตรเสมอ เช่น 20-20-20 ไม่ต้องห่วงเรื่องสูตรตัวหน้า(ไนโตรเจน)สูงนะครับ เพราะกล้วยไม้ป่า ไม่ต้องการไนโตรเจนมาก ซึ่งโดยปกติกล้วยไม้ป่าจะได้ไนโตรเจนจากน้ำฝนอยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอครับ (อ่านการใส่ปุ๋ยกล้วยไม้ในฉบับย้อนหลังได้นะครับ)
5.รดน้ำได้ตามปกติ จนกว่าอีกประมาณ 3 เดือนจะออกดอก ค่อยลดการให้น้ำลงนะครับ
6.แล้วจะบันทึกเล่าให้ฟังเป็นระยะ ๆ นะครับ


การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ป่า(กล้วยไม้ไทย)
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า “ผมไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำกล้วยไม้ออกมาปลูกเลี้ยง” แต่กล้วยไม้ป่าที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ เป็นกล้วยไม้ป่าที่มาจาก
ชาวบ้านตัดไม้เพื่อทำการเพาะปลูก ในที่นี้คือ ปลูกข้าว ทำให้ต้องตัดต้นไม้ ออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปลูก (ผมไม่ทราบว่าทำไมต้องตัดออก เมื่อก่อน
มีต้นไม้ในทุ่งนาเยอะแยะ ก็ร่มรื่นดี แต่ตอนนี้ตัดออกซะแล้ว) เลยทำให้กล้วยไม้ที่อยู่บนต้นไม้ต้องตายลงในที่สุด แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มสงสารเลย
นำมามัดติดต้นไม้ไว้ที่บ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์มันไว้ไม่ให้ตายลงไป ซึ่งป่าทางภาคอิสานที่ผมอาศัยอยู่ใน กล้วยไม้ที่เห็นชาวบ้านนำมาติดตอไม้
มากที่สุดเห็นจะเป็น สามปอย เขาแกะ ช้าง สิงโต เข็มขาว ฯลฯ ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านว่า นำมาจากต้นไม้ที่ตัดทิ้งที่ทุ่งนา

การดูแลกล้วยไม้ป่าของชาวบ้านมีดังนี้
1. แกะออกมาจากต้นไม้ที่ตัดทิ้งไป
2. นำมามัดติดต้นไม้ด้วยเชือกฟาง
3. รดน้ำทุกวันเพื่อให้รากติด
4. พอรากติดแล้วไม่ต้องดูแลอะไรเลย

เพียงแค่นี้เองครับ กล้วยไม้ก็ไม่เห็นจะตายเลยครับ ไม่เคยรดน้ำอีกเลย อาศัยแค่น้ำฝนในฤดูฝน ถึงเวลาออกดอกก็ออกดอก ในขณะที่ผมดูแลอย่างดี
รดน้ำทุกเช้า ให้ยา ให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์ กลับไม่มีความแตกต่างกันเลย (ต่างแค่ใบกล้วยไม้ผมเขียวกว่า ไม่มีฝุ่นเกาะ อิอิ) เอารูปเจ้าสามปอยต้นนี้
ซึ่งติดอยู่กับต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่หน้าศูนย์สาธิืตการตลาดบ้านปรางค์ มาให้ชมครับ สวยมากทีเดียวครับสำหรับสามปอยต้นนี้ ซึ่งชาวบ้านได้มาจาก
ต้นไม้ที่ตัดออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปลูกข้าวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

จากรูปเราจะเห็นได้ว่ากล้วยไม้ต้นนี้ แห้งมาก ๆ ไม่เคยรดน้ำเลย ตั้งแต่ฤดูฝนเป็นต้นมา แต่มันก็ไม่ตาย แต่กลับให้ช่อดอกยาว ๆ ออกมาถึง 9 ช่อ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ให้เพื่อนปฏิบัติตามนะครับ เพียงแค่เอามาให้ดูว่า “ไม่รดน้ำ ก็ไม่ยักกะตายแฮะ??” และอยากจะบอกว่ากล้วยไม้ เราอย่ารักเค้า
มากเกินไป หมายถึงว่า “อย่ารดน้ำเค้าบ่อยเกินไป อยู่เปลี่ยนย้ายที่เค้าบ่อย อย่าให้สารเคมีเข้มข้นเกินไป” กล้วยไม้สามารถปรับสภาพตัวเองให้เข้ากับ
สภาพแวดล้อมได้บ้าง แต่ “เราควรปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับกล้วยไม้ให้มากที่สุด”

ในที่นี้ชาวบ้านเค้าเอามาจากต้นไม้ในนา ซึ่งอยู่ในเขตตำบลเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมไม่ต่างกันมากนัก ต่างกันเพียงว่า แต่ก่อนอยู่บน
ต้นไม้สูง แต่ตอนนี้มาอยู่ข้างถนน แต่เขาก็ยังปรับสภาพได้ดี ฝากถึงเพื่อน ๆ ที่นำกล้วยไม้ที่ไม่ใช่้กล้วยไม้ในเขตพื้นที่ของตน เช่น ตัวเองอยู่อิสาน
อากาศร้อน แล้ง แต่กลับนำกล้วยไม้ เช่น มณีไตรรงค์ ซึ่งอยุ่บนดอยสูง เช่น ดอยอินทนนท์มาเลี้ยง ซึ่งบอกได้ว่า รอดยากมาก ควรเลือกไม้ที่ได้รับ
การพัฒนาสายพันธุ์แล้ว และไม้ที่เข้ากับสภาพแวดล้อมบ้านเรา เช่น อิสานมีความแล้ง ต้องเลือกไม้เช่น สามปอย ช้าง ไอยเรศ เขาแกะ เป็นต้น